ลัวรี่ ราพาล่า(Lauri Rapala)
ลัวลี่ ราพาล่า เกิดที่เมืองเล็กๆ ในปี 1907 เขาเป็นเด็กกำพร้า ไม่เคยเห็นหรือรู้เรื่องราวของพ่อผู้ให้กำเนิด ไม่มีแม้แต่นามสกุล จวบจนกระทั่งอายุได้ 5 ขวบ เจ้าหน้าที่ทางทะเบียนราษฎร์จึงตั้งนามสกุลให้เขาว่า "ราพาล่า" ตามชื่อของเมืองที่เขาได้เกิดมา ซึ่งคำว่า Rapala(ราพาล่า)ในภาษาถิ่นที่นี่ หมายความถึงความมัวหม่น หม่นหมอง ปลักตม ซึ่งตรงกับบุคลิกภาพหม่นหมองของเด็กกำพร้าน้อยคนนี้ ชีวิตส่วนใหญ่ของเขาพบเจอแต่ความยากลำบาก ต้องทำงานหนัก หาเช้ากินค่ำ แม้แต่ออกรบในสงครามทั้งกับพวกรัสเซียและเยอรมันเพียงเพื่อได้มีอาหารและเกียริติยศเล็กน้อยในจิตใจ
เป็นเวลาหลายสิบปี ที่เขาตกปลาอยู่ตามทะเลสาบชายป่าซึ่งอยู่ไกลออกไปทางด้านเหนือของ เฮลซิงกิประมาณ 2 ชั่วโมง โดยอาศัยเรือกรรเชียงเก่าๆ เขาเพียรเรียนรู้การต่อสู้เพื่อยังชีพในกระแสน้ำ เฝ้ามองปลาเหยื่อตัวเล็กๆ ที่ถูกงาบเข้าไปในอุ้งปากมหึมาของปลานักล่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาเทร้าท์หรือไม่ก็ปลาไพค์"ผมได้เห็นว่าปลาใหญ่ๆ นั้นมักจะรอคอยจนกระทั่งสามารถเลือกเหยื่อที่มีลักษณะอาการแตกต่างไปจากตัว อื่น"เขาเคยพูดอธิบายให้ฟัง "การที่ปลาเหยื่อถูกปลานักล่าขนาดใหญ่ กินก็เป็นเพราะกริยาอาการว่ายที่ไม่เหมือนตัวอื่นๆ เป็นจังหวะที่ต่างกัน" ด้วยการสังเกตุพฤติกรรมนิสัยปลามาเนิ่นนาน เขาถึงขนาดทายไว้ล่วงหน้าได้ว่าเมื่อลงเหยื่อเสร็จ ปลาจะกินเหยื่อตัวใหนก่อน
นี่ไม่ใช่การฝึกสังเกตุการณ์อย่างอดทนที่ไร้ค่า เพราะครอบครัวราพาล่ามีชีวิตอยู่ได้ ด้วยปลาตลอดระยะเวลาทุกข์ยากอันยาวนาน หลังจากไม่ได้มรรคผลอะไรจากอาชีพเพาะปลูกและตัดซุง เขาตกลงใจเป็นชาวประมงและแต่งงานกับภรรยาของเขา เอลมา ซึ่งมีลูกด้วยกัน 7 คน ครอบครัวนี้อยู่รวมกันในกระท่อมซุงสี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาว 13 ฟุต เฟอร์นิเจอร์ในบ้านมีเตียงอยู่ตัวหนึ่งและเมื่อไฟฟ้าไปถึงที่นั่นในปี 1939 ทั้งบ้านมีตะเกียงน้ำมันอยู่เพียงดวงเดียว
ลัวรี่ ราพาล่า ตกปลาอย่างหนักแทบทุกลมหายใจที่ตื่น ในทะเลสาบใกล้ๆกับ วาแอคซี่ ฟินด์แลนด์ เขาจะวนเวียนพายเรืออยู่ในนั้นเป็นวันๆ หรืออาจวันข้ามวัน มีตาข่ายใส่เหยื่อปลาและเบ็ดนับร้อยๆสาย และเขาไม่เคยมีคันเบ็ดใช้เลย บางทีเขาจะหายไป 2 วันแล้วกลับมาพร้อมด้วยปลาเทร้าท์หนักรวมกันถึง 600 ปอนด์ และบางทีก็หายไปนานกว่านั้นแล้วกลับมาแบบไม่ได้อะไรเลย(แห้ว)
ริสโต้ ลูกชายคนหนึ่งของเขาพูดถึงพ่อแบบทบทวนความหลังว่า พ่อออกจากบ้านในฤดูหนาว วิ่งสกีไปหลายๆ ไมล์ข้ามหิมะและน้ำแข็งไปยังแหล่งตกปลา เพื่อเจาะหิมะและน้ำแข็งซึ่งหนาถึง 23 นิ้ว ให้เป็นรูแล้ววางเบ็ดพร้อมปลาเหยื่อลงไปนำอาหารกลับมาให้ครอบครัวยังชีพ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูร้อนซึ่งเขาต้องทำงานสายตัวแทบขาดนั่นเอง ราพาล่าได้หวนคิดถึงปลาที่มีลักษณะว่ายน้ำผิดปกติเฉไปมา และโดนปลาล่าเหยื่อเข้าชาร์จตลอดเวลา ลักษณะเช่นนี้น่าจะเป็นแรงดึงดูดเจ้าตัวใต้น้ำได้เป็นอย่างดี เขาจึงค้นคิดและลองทำเหยื่อปลอมซึ่งถูกลากและมีแอคชั่นออกอาการคล้ายๆ ปลาเหยื่อที่กำลังบาดเจ็บซึ่งจะเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อ
หลังจากทดลองหลายครั้งหลายหนเขาก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า เหยื่อนั้นต้องใช้วัสดุเบาๆ ทำ มันจะได้มีแอ็คชั่นเหมือนเหยื่อปลาที่บาดเจ็บมากที่สุด ตอนแรกเขาใช้ไม้สนในการทำเหยื่อปลอมรูปตัวปลา ต่อมาได้ทดลองใช้เปลี่ยนเป็นไม้บัลซ่าจากอีควาดอร์ เขาตกแต่งเหยื่อนั้นให้มีลักษณะคลายตัวปลา ใช้กระดาษ ตะกั่ว ทากาวทับติดตัวปลา ติดปากเพื่อให้เหยื่อมีแอคชั่นและเพื่อให้มองดูเหมือนปลาเหยื่อมากขึ้น เขาระบายสีเหยื่อปลอมตัวนี้ด้วยหมึกสีแบบเก่า
เหยื่อปลอมตัวนั้นประสบความสำเร็จอย่างน่าตกใจ มันเกินความคาดหมายของเขาอย่างมาก กิติศัพท์เรื่องเหยื่อของเค้าล่ำลือไปจนทั่ว และเขาไม่ได้หวงแหนหรือเก็บงำไว้เป็นความลับส่วนตน เขาทำเหยื่อปลอมแบบตัวเก่งของเขา แจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านและเพื่อนคนหาปลาด้วยกัน สุดแล้วแต่ใครจะขอหรืออยากได้
ข่าวดีนั้นเดินทางเร็วในโลกของคนตกปลา มันแพร่ไปเร็วและกว้างยิ่งกว่าไฟใหม้ป่า ความต้องการหลั่งใหลเข้ามา และราพาล่าเริ่มต้นขายเหยื่อปลอมของเขา
อะไรกำลังจะดี แต่มีอุปสรรคเข้ามาขวางให้โชคของคนยากจบสิ้นลงง่ายๆ รัสเซียบุกเข้ายึดครองฟินด์แลนด์ในปี 1939และเขาต้องไปรับใช้กองทัพเป็นเวลาถึง 5 ปี กว่าเขาจะได้กลับคืนไปที่กระท่อมน้อยริมทะเลสาบของเขาอีก ในช่วงนั้นเอลมา เลี้ยงลูกชาย 5 คนและลูกสาว 2 คนให้มีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยการทำงานเล็กๆน้อยๆ และกู้ยืม เมื่อภาวะสงบกลับคืนมาและคนทั่วไปเริ่มมีเวลาว่าง กีฬาตกปลาก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเนือ ราพาล่าก็สามารถผลิตและขายเหยื่อปลอมของเขาได้มากขึ้น
กลางๆ ปี 1950 เหยื่อราพาล่าจึงได้ไปถึงอเมริกา เขาส่งมันไปเป็นของขวัญแก่ชาวฟินด์แลนด์ซึ่งอยู่ในฟลอริดา และ แถบเหนือติดกับพรมแดนแคนาดาซึ่งกำลังบ้าตกปลาขนานใหญ่ และในมิเนโซต้าซึ่งเป็นทีที่ คนเชื้อสายจากชาวฟินด์แลนด์ตั้งรกรากกันอย่างหนาแน่น ชื่อของราพาล่าจึงอุบัติขึ้น ทั้งในฐานะความภาคภูมิใจแก่คนเหล่านั้นที่มีต่อราพาล่า ในฐานะผู้สร้างเหยื่อตกปลาขั้นเทพ และเป็นเหยื่อปลอมมหัศจรรย์ที่สุด บางคนรีบกลับจากอเมริกาไปยังบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อเอารางวัลการแข่งตกปลาที่ได้จากเหยื่อปลาปลอมของราพาล่า ไปให้เขาที่เป็นผู้ผลิตคิดค้นได้ร่วมชื่นชม ดูเหมือนว่าเหยื่อราพาล่าจะได้ปลาทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นปลาเทร้าท์ ปลาไพค์ หรือปลาแบสส์ เป็นจำนวนมากมายอย่างที่ไม่เคยตกได้มาก่อน
เพราะว่ามันเป็นงานฝีมือ ทำด้วยมือล้วนๆ และหายาก โรคบ้าเหยื่อราพาล่าเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเหยื่อราพาล่ามันเป็นเหยื่อน้ำหนักขนาดเบาอยู่ระหว่างปานกลาง ดังนั้นจึงใช้ได้กับคันขนาดเบาทุกประเภท แต่แปลกที่มันมีน้ำหนักเพียงพอให้ขว้างหรือหวดสายออกไปได้ ลากได้และไม่จม จึงเป็นที่ถูกใจของนักตกปลา
เป็นเรื่องตลกที่เกิดมีการเล่าถึงเรื่องนักกีฬาตกปลาขโมยเหยื่อปลาปลอมจาก เพื่อนนักตกปลาด้วยกัน และยังมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น นั่นคือการให้เช่าเหยื่อปลอมราพาล่า ซึ่งบัดนี้ขนานนามกันว่าเป็นปรากฎการณ์ราพาล่าฟีเว่อร์ก็คงไม่ผิดนัก ผู้เช่าเหยื่อส่วนมากคือคนที่ได้ยินกิตติศัพท์แต่ไม่สามารถหาซื้อมาไว้เป็นเจ้าของได้ ต้องไปเช่าคนอื่นมาทดลองตก ของที่ถูกส่งข้ามประเทศมาในฐานะของขวัญ บัดนี้แอบขายให้กันตามเคาท์เตอร์สำหรับคนกันเอง เพราะมันมีเพียงจำนวนน้อย ในราคาตัวละ 25 เหรียญ ซึ่งในยุคนั้นเป็นราคาที่แพงเหมือนกับทอง
และแล้วก็มีคนหัวใสเกิดขึ้นมาจนได้ หมอนั่นเป็นพนักงานขายจอมจ้อชื่อ รอน เวบเบอร์ ในมินเนโซต้า ซึ่งได้ยินปรากฎการณ์ rapala ฟีเว่อร์ อันพิลึกกึกกือนี้ รอน เวบเบอร์ จึงร่วมทุนร่วมความคิดกับเพื่อนที่ชื่อ เรย์ ออสตรอม เขียนจดหมายไปถึง ลัวรี่ ลาพาร่า ขอเป็นตัวแทนขายเหยื่อปลอมราพาล่าแต่เพียงผู้เดียวในทวีปอเมริกาเหนือ
พอถึงตอนนั้น เนื้อที่ขนาดแมวดิ้นตายในกระท่อมของลัวรี่ กลายเป็นโรงงานผลิตเหยื่อปลอม โดยเขา เมีย ลูกๆ และเพื่อนบ้านสาละวนกับการทำเหยื่อตามใบสั่งที่ทยอยตามกันเข้ามาไม่ขาดสาย เหยื่อถูกส่งไปอเมริกาขายหมดในพริบตา ใบสั่งระลอกใหม่ตามเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง จนถึงปี 1962 นักตกปลาซึ่งโดนความยากจนกระหน่ำมาทั้งชีวิตและเริ่มดูว่าแก่ทรุดโทรม ทั้งที่เขามีอายุเพียง 55 ปี ก็ตกลงเซ็นสัญญากับพนักงานขายชาวอเมริกัน 2 นายนั้น ทั้งสองคนได้เป็นผู้ขายราพาล่าแต่เพียงผู้เดียว รับไม่จำกัดจำนวน เหยื่อผลิตออกมาได้เท่าไหร่เป็นเอาทุกตัว ตอนนั้นลัวรี่ ยังคงผลิตเหยื่อทุกตัวด้วยมืออย่างปราณีตเช่นเคย
อะไรที่มันจะเกิด มันต้องเกิดนิตยสารไลฟ์ได้รับรู้ถึงชื่อเสียงของเหยื่อตัวนี้ และนำเหยื่อราพาล่าพาดหัวบนปกนิตยสาร ซึ่งหน้าปกนั้นมีมาริลีน มอนโร ผงาดเนื้อหนังโนมเนื้อทุกส่วนของเธอ มันเป็นฉบับประจำวันที่ 17 สิงหาคม 1962 ด้วยถ้อยคำสั้นๆ ว่า "เหยื่อปลอมที่ปลาไม่มีสิทธิปฏิเสธ"เป็นฉบับที่ไลฟ์เองก็ทำลายสถิติการ จำหน่ายของตัวเองเหมือนกัน
"เราแทบไม่เชื่อ ไม่เชื่อเอาจริงๆ เสียงโทรศัพท์ดังเข้ามาสั่งเหยื่อปลอมทุกนาที..." ออสตรอมเล่าให้ฟัง เพียงปีเดียวขายไปได้100,000 ตัว พอถึงปี 1964 ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 800,000 และไม่นานก็เพิ่มเป็นล้านและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ลัวรี่ ย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ซึ่งใหญ่โตขึ้นแต่ยังคงอยู่ในชนบท เขาเป็นวีรบุรุษหนึ่งเดียวของท้องถิ่น ซึ่งดูเหมือนว่าเมื่อความสำเร็จจะมาถึง มันมาในชั่วเวลาไม่ทันข้ามคืน หลังจากที่ความยากจนกระหน่ำย่ำยีเขามาค่อนชีวิต แต่เขาก็ยังเป็นเขา เป็นชาวประมงหาตกปลาในชนบทเหมือนดังเดิม ความสำเร็จนั้นไม่ได้มีผลแตกต่างอะไรต่อตัวเขา เขายังเป็นคนง่ายๆ จะเล่าถึงความสำเร็จนั้นอย่างร่าเริงบ้าง กับกลุ่มเพื่อนฝูงชาวบ้านนอกที่สนิทกันมาเก่าก่อน แต่จะเก็บตัวและขลาดอายเสมอเมื่อมีคนไม่รู้จักแวะเวียนมาหาซึ่งในจำนวน นั้นก็มีประธานาธิบดีฟินด์แลนด์ และเจ้าชายฟิลลิปแห่งอังกฤษรวมอยู่ด้วย
(ลัวลี่กับริสโต้)
"พ่อไม่เคยอยากท่องเที่ยว"ริสโต้ ลูกชายคนโตเล่า "พ่อเคยไปอเมริกาเพียงครั้งเดียว ไปอยู่แค่สองอาทิตย์และตลอดเวลาก็ตกปลาในทะเลสาบชายป่ามินเนโซต้า"
"พ่อไม่เคยอยากท่องเที่ยว"ริสโต้ ลูกชายคนโตเล่า "พ่อเคยไปอเมริกาเพียงครั้งเดียว ไปอยู่แค่สองอาทิตย์และตลอดเวลาก็ตกปลาในทะเลสาบชายป่ามินเนโซต้า"
เอ็นซิโอ ลูกอีกคนบอกว่า "พ่อมีเงินติดตัวไม่มาก บางทีก็ไม่มีเลย ถ้าพ่อนั่งแท็กซี่กลับบ้าน พ่อก็จะบอกให้คนขับรถขับไปที่แบงค์ไปเอาเงินที่พ่อฝากอยู่"
ในปี 1965 ลูกคนเล็กชื่อ คัวโก้ ได้จมน้ำตายในทะเลสาบซึ่งเขาเคยทดสอบเหยื่อปลอมอยู่เสมอ เรือที่นั่งไปชนสิ่งกีดขวางและเขาพลัดตกลงไปในน้ำ กว่าจะพบศพก็อีกอาทิตย์ถัดมา สิ่งที่ติดขึ้นมากับขากางเกงของหนุ่ม 26 ปีผู้เคราะห์ร้ายเป็นเหยื่อราพาล่าตัวหนึ่ง
โศกนาฏกรรมนั้นทำร้ายชายชราอย่างแสนสาหัส ริสโต้ บอกว่า "พ่อไม่เป็นอย่างเดิมอีกเลยตั้งแต่วันนั้น พ่อรู้สึกว่าสายน้ำซึ่งการุณพ่อมาตลอดชีวิต บัดนี้ได้ทวงหนี้ที่พ่อต้องชำระ นั่นคือชีวิตของ คัวโก้"
ชายชราดื่มอย่างหนักหลังการตายของลูกชาย โอนกิจการให้ลูก ไม่เคยมาสนใจใยดีว่ากิจการนั้นก้าวหน้ายิ่งใหญ่เพียงใด ร่างกายซึ่งครั้งหนึ่งเคยแข็งแกร่ง บัดนี้แห้งเหี่ยว ทรุดโทรม ไร้ซึ่งพละกำลัง ทั้งกายและใจ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ลัวรี่ ราพาล่า หมดลมหายใจลงในวันที่ 20 ตุลาคม 1974 มีทรัพย์สินส่วนตัวที่เหลือเพียง 27,000 เหรียญ เพราะนอกนั้นเขามอบให้กับลูกๆ และคนอื่นหมดสิ้นแล้ว
ศพลัวรี่ ถูกฝังไว้ใกล้ๆกับศพของคัวโก้ลูกชายที่เขารัก แต่ชื่อของเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไป เป็นอมตะนามเสมอในหมู่นักกีฬาตกปลา ตราบเท่าที่เหยื่อปลอมราพาล่ายังติดปลาทุกตัวขึ้นมาจากน่านน้ำและกระแสธาร ทั่วโลก...
หลับให้สบายเถิด..ชายผู้ให้กำเนิด..เหยื่อแห่งความฝัน..ดาวเดือนเกลื่อนฟ้าหมื่นพัน..จะโอบกอดท่านนั้นให้หลับสบาย....สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต...ยังกระตุ้นจิตให้คิดถึง..เหยื่อปลอมใหญ่น้อยกลาดเกลื่อนเต็มบึง...ราพาล่าคือที่หนึ่งในใจเรา....(ไปได้เว้ย..สุดยอด..อิอิ)
=============================
=============================